
หมอเจี๊ยบครับ ผม "ขี้ร้อน" และมีเหงื่อออกมากผิดปกติ จนทำให้บางครั้งไม่อยากออกไปข้างนอกเลย ผมอยากรู้ว่ามันส่งผลอันตรายไหมครับ
COOL Clinic
หมอเจี๊ยบครับ ผม "ขี้ร้อน" และมีเหงื่อออกมากผิดปกติ จนทำให้บางครั้งไม่อยากออกไปข้างนอกเลย ผมอยากรู้ว่ามันส่งผลอันตรายไหมครับ
-
เข้าใจเลยค่ะ ปกติอากาศในประเทศไทยก็ร้อนมาก ๆ อยู่แล้ว แต่การที่ขี้ร้อนนั้นไม่ได้สร้างแค่ผลกระทบทางด้านอารมณ์นะคะ ยังสามารถบอกอีกได้ว่าร่างกายของเรานั้นกำลังป่วย ซึ่งร่างกายของคนเราประกอบไปด้วยอวัยวะต่าง ๆ ที่ทำงานร่วมกัน เกิดเป็นกระบวนการต่างๆ ซึ่งถ้าร่างกายเกิดความร้อน ร่างกายก็จะมีกลไกในการควบคุมหรือระบายความร้อนออกมาในรูปแบบของ “เหงื่อ” เพื่อให้ความร้อนในร่างกายอยู่ในระดับที่เหมาะสม
ภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติ (Hyperthydrosis) คือภาวะที่ร่างกายขับเหงื่อออกมาเป็นจำนวนมาก
แม้ในสภาพอากาศปกติ โดยจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มที่ไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน (Primary Hyperhydrosis) กลุ่มนี้จะมีภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติ ที่ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด จะมีเหงื่อออกในบริเวณบางส่วนของร่างกาย เช่น ใบหน้า ศีรษะ รักแร้ ฝ่ามือ ร้อยละ 30-40 ของคนที่มีภาวะนี้ พบว่ามีญาติ หรือพ่อแม่มีภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติเช่นกัน ซึ่งภาวะดังกล่าวก่อให้เกิดปัญหาทั้งในแง่การทำงาน การเข้าสังคมและการดำรงชีวิตประจำวัน แต่ในกลุ่มที่2 กลุ่มคนที่มีภาวะความผิดปกติในร่างกาย (Secondary Hyperhydrosis) คนไข้ในกลุ่มนี้ จะมีเหงื่อในปริมาณมาก ออกทั่วร่างกาย แม้กระทั่งในเวลานอน ซึ่งมีสาเหตุมาจากผลข้างเคียงของโรคอื่น ๆ เช่น โรคไทรอยด์เป็นพิษ,โรควัณโรคปอด,โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง,ผู้ที่เป็นโรคอ้วน หรือมีภาวะอ้วนมาก ๆ , รวมถึงการรับประทานยาบางชนิด
การป้องกันเหงื่อออกมากในเบื้องต้น สามารถใช้ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายที่ผสมสารลดเหงื่อจำพวกอะลูมิเนียมคลอไรด์ทั้งในระหว่างวันและก่อนนอน เพื่อช่วยปิดต่อมเหงื่อ และควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่ชัดเจนและทำการรักษาอย่างตรงจุดต่อไปค่ะ